การศึกษานโยบายการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนในสถานศึกษา

Authors

  • สุชาดา ลิ่มสวัสดิ์ Suratthani Rajabhat University

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการนำนโยบายการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนในสถานศึกษา เปรียบเทียบผลการเรียนรู้การอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็นของนักเรียน ก่อนและหลังการนำนโยบายการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้และเสนอแนวทางการนำนโยบายการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนสู่การปฏิบัติ ในสถานศึกษาจังหวัดภาคใต้ตอนบน มีวิธีดำเนินการวิจัย 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ศึกษาการนำนโยบายการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนในสถานศึกษา 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน จังหวัดละ 1 สถานศึกษา เป็นการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบบันทึกการสังเกตสภาพทั่วไป แบบวิเคราะห์เอกสาร และแบบสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ตีความ สังเคราะห์ และตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า 2) เปรียบเทียบผลการเรียนรู้การอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ของนักเรียน โดยการเปรียบเทียบผลการประเมินจุดเน้นการอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และ 3) เสนอแนวทางการนำนโยบายการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนในสถานศึกษาจังหวัดภาคใต้ตอนบน พร้อมตรวจสอบความและประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ท่าน

            ผลการวิจัยพบว่าสถานศึกษาทุกแห่งมีการนำนโยบายการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้ ของนักเรียน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้ ด้านความชัดเจนของนโยบาย สถานศึกษามีความเข้าใจวัตถุประสงค์และเป้าหมายของนโยบาย แต่ไม่ชัดเจนในเรื่องวิธีการหรือแนวทางที่จะนำไปปฏิบัติให้เกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ด้านการสื่อสารนโยบาย ผู้บริหารได้มีการประชุม ชี้แจงทำความเข้าใจนโยบายแก่ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง การกำหนดภารกิจและการมอบหมายงาน ส่วนใหญ่มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของครูประจำชั้น ครูผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และครูคอมพิวเตอร์เป็นผู้รับผิดชอบ สำหรับการนิเทศกำกับติดตามการดำเนินงานตามนโยบายนั้น มีการนิเทศภายในโดยผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้างานวิชาการ นิเทศภายนอกโดยศึกษานิเทศก์ประจำเขตพื้นที่การศึกษา ประเด็นที่มีสภาพการปฏิบัติที่แตกต่างกันคือ สมรรถนะองค์การ ศักยภาพและความพร้อมของแต่ละสถานศึกษา โดยเฉพาะในเรื่องทักษะความสามารถในการใช้แท็บเล็ตและการใช้เทคโนโลยีของครูผู้สอน งบประมาณ สถานที่ วัสดุอุปกรณ์     ทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินการและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ส่วนการเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ การอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็นของนักเรียน ก่อนและหลังการนำนโยบายการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา ปรากฏว่า ผลการประเมินการอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ของนักเรียนในปีการศึกษา 2556 ของทุกสถานศึกษาเป็นไปในแนวทางเดียวกันคือ ไม่ได้สูงกว่าของนักเรียนในปีการศึกษา 2555 จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนส่งผลให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ได้ดีกว่าการไม่ได้ใช้แท็บเล็ตในการเรียนรู้ แต่การใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้ มีผลในเรื่องการที่ครูและนักเรียนมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี ได้ใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้  สำหรับการวิจัยครั้งนี้ได้นำเสนอแนวทางการนำนโยบายการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาซึ่งประกอบด้วย แนวทางการสร้างความชัดเจนของนโยบาย การสื่อสารนโยบาย การกำหนดภารกิจและการมอบหมายงาน การพัฒนาสมรรถนะองค์การ และการกำกับติดตามการดำเนินงานตามนโยบายอีกทั้งได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และผู้ปกครองนักเรียน พร้อมทั้งเงื่อนไขความสำเร็จในการนำนโยบายการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

Downloads

Published

2017-01-16