การประเมินการดำเนินงานของรัฐสภาตามเกณฑ์และตัวชี้วัดของสหภาพรัฐสภา

Authors

  • ถวิลวดี บุรีกุล สถาบันพระปกเกล้า
  • มานวิภา อินทรทัต สถาบันพระปกเกล้า
  • ภาคภูมิ ฤกขะเมธ สถาบันพระปกเกล้า
  • ศรีสุวรรณ พยอมยงค์ สถาบันพระปกเกล้า
  • นิตยา โพธิ์นอก สถาบันพระปกเกล้า
  • รัชวดี แสงมหะหมัด สถาบันพระปกเกล้า
  • วรัญญา วุฒิพันธุ์ สถาบันพระปกเกล้า
  • สกล สิทธิกัน สถาบันพระปกเกล้า

Keywords:

การประเมิน, รัฐสภาไทย, การปฏิบัติงาน

Abstract

การประเมินการดำเนินงานของรัฐสภาตามเกณฑ์และตัวชี้วัดของสหภาพรัฐสภา เป็นการวิจัยประเมินผล (Evaluation Research) เพื่อประเมินรัฐสภาไทยอันนำไปสู่การยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐสภาไทยตามกรอบตัวชี้วัดที่เป็นสากลของสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (Inter - Parliamentary Union : IPU)  ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัด 6 ด้าน ได้แก่ การเป็นตัวแทนประชาชน การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร การทำหน้าที่นิติบัญญัติ  ความโปร่งใสและการเข้าถึงได้ ความสำนึกรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วม      ในนโยบายระหว่างประเทศ โดยการศึกษาครั้งนี้มีขอบเขต 1) ประเมินการดำเนินงานของรัฐสภาไทย ชุดที่ 24  (ปี พ.ศ. 2556) 2) เปรียบเทียบการดำเนินงานของรัฐสภาไทย ชุดที่ 24  (ปี พ.ศ. 2556) กับรัฐสภาไทย ชุดที่ 23 (ปี พ.ศ. 2554) และ 3) เปรียบเทียบการดำเนินงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ชุดที่ 24  (ปี พ.ศ. 2556)

สำหรับระเบียนวิธีวิจัยเป็นการศึกษาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ส่วนตามกลุ่มเป้าหมาย คือ 1) การประเมินการดำเนินงานของรัฐสภาไทย 6 ด้าน     ตามกรอบสหภาพรัฐสภา เป็นการศึกษาโดยใช้แบบสอบถามและการระดมความคิดเห็นแบบสภากาแฟ ในกลุ่มตัวอย่างเฉพาะ ได้แก่ สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการ นักวิชาการ สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ซึ่งผลการประเมินการดำเนินงานของรัฐสภาในเชิงปริมาณที่ได้จากแบบสอบถาม 2) การใช้แบบสำรวจความคิดเห็นภาคประชาชนต่อความเชื่อมั่นในรัฐสภาที่มีต่อความเป็นตัวแทน สัมพันธภาพ ความพึงพอใจ และความไว้วางใจ โดยใช้ในกลุ่มตัวอย่างที่มาจากการสุ่มตัวอย่างตามความน่าจะเป็นจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลจะถูกนำไปวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ และค่าเฉลี่ย

ผลการศึกษา พบว่า การดำเนินงานของรัฐสภาไทย ชุดที่ 24 (ปี พ.ศ. 2556)       ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง โดยผู้เข้าร่วมประเมินให้คะแนนต่อการทำหน้าที่นิติบัญญัติมากที่สุด รองลงมา คือ การทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ตามมาด้วยการมีส่วนร่วมในนโยบายระหว่างประเทศ และความโปร่งใสและการเข้าถึงได้ ขณะที่ความเป็นตัวแทนประชาชน และความสำนึกรับผิดชอบ มีคะแนนน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินงานอื่นๆ ข้างต้น ส่วนผลการประเมินจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่า ในด้านความเป็นตัวแทนประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 69.50 เห็นว่า ส.ส. และ ส.ว. มีตัวแทนของประชาชนที่นับถือศาสนาทุกศาสนาในรัฐสภา ส่วนด้านสัมพันธภาพประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 63 เห็นว่า ส.ส. และ ส.ว. มีพฤติกรรมที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างก่อนและหลังการเลือกตั้ง ด้านความพึงพอใจ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.10 พึงพอใจกับการทำหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว. ในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายต่างๆ นอกจากนี้ ในด้านความไว้วางใจ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.80 มีความเห็นต่อประวัติการทำงานของ ส.ส. และ ส.ว. ว่าเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าจะปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

เมื่อเปรียบเทียบผลการประเมินในปี พ.ศ. 2554 และ พ.ศ. 2556 พบว่า ผลการประเมินการดำเนินงานของรัฐสภาในภาพรวมมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเพียงร้อยละ 0.08 โดยในปี พ.ศ.2554 ผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับการดำเนินงานปานกลาง  (ค่าเฉลี่ย =2.59, S.D.= 0.66) เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า การทำหน้าที่นิติบัญญัติและ     การทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร มีคะแนนเฉลี่ยมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 2.82, S.D.= 0.66 และค่าเฉลี่ย =2.78, S.D.= 0.61 ตามลำดับ) โดยความสำนึกรับผิดชอบมีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุด ขณะที่ผลการประเมิน พ.ศ. 2556 พบว่า คะแนนภาพรวมอยู่ในระดับปานกลางเช่นกัน (ค่าเฉลี่ย = 2.67, S.D.= 0.60) ส่วนการทำหน้าที่นิติบัญญัติและการตรวจสอบฝ่ายบริหาร    มีคะแนนเฉลี่ยมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 2.93, S.D.= 0.50  และ ค่าเฉลี่ย = 2.85, S.D.= 0.58 ตามลำดับ) ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2554 เล็กน้อย ขณะที่ความสำนึกรับผิดชอบยังคงเป็นด้านที่มีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุดแม้จะมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นก็ตาม (ในปี พ.ศ. 2554 ค่าเฉลี่ย = 2.25, S.D.= 0.69 และในปี พ.ศ. 2556 ค่าเฉลี่ย = 2.41, S.D.= 0.67 ตามลำดับ) โดยมีนัยยะสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

จากการศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะในภาพรวมที่รัฐสภาควรมีมาตรฐานของข้อบังคับด้านการขัดจริยธรรมหรือผลประโยชน์ทับซ้อนที่ชัดเจน มีมาตรฐานที่เป็นสากล มีการเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ และบังคับใช้จริง ควรมีการพัฒนาขีดความสามารถและสมรรถนะของสมาชิกรัฐสภาอย่างเป็นระบบ ควรมีการสำรวจความเชื่อมั่นและการประเมินประผลการดำเนินงานของรัฐสภาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องพร้อมทั้งมีการเผยแพร่สู่สาธารณะ ส่วนภาคประชาชนก็ควรมีการเสริมสร้างให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจรัฐสภา โดยให้ความรู้ประชาชนด้านข้อมูลข่าวสาร กฎหมาย ส่งเสริมความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

Downloads

Published

2016-06-14