วัด : การจัดการอาหารไม่ให้เหลือทิ้ง
Keywords:
การจัดการ, การเรียนรู้, ภูมิปัญญาAbstract
วัด : การจัดการอาหารไม่ให้เหลือทิ้ง มีวัตถุประสงค์ในการวิจัยเพื่อ ศึกษากระบวนการเรียนรู้ การจัดการกิจกรรมเกี่ยวกับอาหารประเพณี และศึกษากระบวนการพัฒนารูปแบบการจัดการกิจกรรม เกี่ยวกับอาหารประเพณีไม่ให้เหลือทิ้ง ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการถอดบทเรียน วิเคราะห์ สังเคราะห์ การพัฒนาในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยใช้กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มญาติธรรม ผลการวิจัยพบว่า การเรียนรู้กิจกรรม เป็นผลจากการใช้ภูมิปัญญา และการถอดบทเรียนหลังการปฏิบัติการร่วมกับพระนักวิชาการของวัด การพยายามคิด วิเคราะห์ ด้วยการประชุมกลุ่มพูดคุย เสวนากับผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์บ่อย ๆ จนมั่นใจแล้วคิดรูปแบบมาทดลองปฏิบัติ ประเมิน เป็นระยะ ๆ เป็นการเรียนรู้จากฐานความรู้ และการปฏิบัติทดลองตลอดเวลา กระบวนการพัฒนารูปแบบการจัดการกิจกรรมเกี่ยวกับอาหารประเพณี จากการถอดบทเรียน และพัฒนา พบว่าจากการเรียนรู้ จะนำมาคิดวิเคราะห์พัฒนารูปแบบวิธีการจัดการด้วยตนเอง แล้วทดลองขนาดเล็ก จากนั้นมีการประเมิน และนำผลการประเมินไปปรึกษาพูดคุยกับผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเป็นระยะ แล้วกลับมาพัฒนา ไปทดลองใช้ใหม่ ทำการประเมินพัฒนาตามแนวทางตาปูเกลียว (Spiral Model) เพื่อให้ได้ผลดีมากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยภาพรวมกลุ่มญาติธรรม ได้เรียนรู้แนวทางเชิงวิชาการ มาผนวกกับฐานคิดภูมิปัญญาที่มีอยู่สร้างรูปแบบการจัดการตามแบบของตนขึ้นมา (การเรียนรู้แบบชี้นำตนเอง) การนำไปทดลองใช้ปรับปรุงพัฒนาจนเกิดความมั่นใจ ทำให้อาหารทั้งอาหารสด อาหารแห้งและปัจจัยต่าง ๆ ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างมีคุณค่า มีการสูญเปล่าน้อยที่สุด และเกิดประโยชน์ต่อพระภิกษุ สามเณร ญาติโยม เด็กนักเรียน และคนในชุมชนอย่างกว้างขวาง