การเรียนรู้ด้วยการบริการสังคม : ทางเลือกหนึ่งในการรับใช้สังคมของมหาวิทยาลัย
Abstract
บทความนี้ต้องการนำเสนอหลักการและการประยุกต์ใช้การเรียนรู้ด้วยการบริการสังคมเพื่อให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการปฏิบัติพันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของสถาบันอุดมศึกษา วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ใช้ความรู้และทักษะทางวิชาการในการวิเคราะห์หาความต้องการของชุมชนเพื่อนำมาใช้ในการฝึกประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติจริงและนำไปสู่การพัฒนาชุมชนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ การเรียนรู้ด้วยการบริการสังคมมีหลายวิธี ตั้งแต่กิจกรรมอาสาสมัคร การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ การออกปฏิบัติงานภาคสนาม สหกิจศึกษา การจัดทำโครงการพัฒนาชุมชน และการบริการสังคมในรูปแบบอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน หลักการของการเรียนรู้ด้วยการบริการสังคมสอดคล้องกับปรัชญาการศึกษากลุ่มปฏิรูปนิยมและทฤษฎีการเรียนรู้ในกลุ่มที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางซึ่งเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงหรือการเรียนรู้โดยอาศัยประสบการณ์
ขั้นตอนหรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ด้วยการบริการสังคม ประกอบด้วยการสำรวจความต้องการ การเตรียมการวางแผนกิจกรรม การลงมือปฏิบัติงาน การติดตามประเมินผล การสาธิตผลงานและการแสดงความชื่นชมยินดีกับความสำเร็จ มีการวิจัยเพื่อทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ด้วยการบริการสังคมในสถาบันการศึกษาของไทยและในต่างประเทศทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษาในรายวิชาต่าง ๆ พบว่าสามารถช่วยให้ผู้เรียนได้รับความรู้ทางวิชาการ ทักษะการทำงาน และลักษณะนิสัยต่าง ๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้เรียนจะเข้าร่วมในกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายของการเรียนรู้ทั้งความรู้ทางวิชาการ การพัฒนาบุคลิกภาพ การคิดวิเคราะห์ ทักษะความเป็นผู้นำ ทักษะการสื่อสารและการทำงานร่วมกัน ความรับผิดชอบของพลเมืองดี และการสร้างความเข้าใจร่วมกันต่อความหลากหลายทางความเชื่อและวัฒนธรรม ผู้เรียนจะได้มีโอกาสทำงานร่วมกับชุมชนวิชาชีพที่ซึ่งเขาสามารถจะไปสมัครงานและประกอบอาชีพได้เมื่อสำเร็จการศึกษา ส่วนหน่วยงานและชุมชนที่เข้าร่วมโครงการในลักษณะนี้ก็จะได้ประโยชน์หลายประการ เช่น ได้รับองค์ความรู้และนวัตกรรมจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งผลลัพธ์ที่เกิดจากกิจกรรมและโครงการพัฒนาชุมชนที่ได้วางแผนดำเนินการร่วมกัน
สถาบันอุดมศึกษาสามารถนำการจัดการเรียนรู้แบบนี้ไปใช้เป็นทางเลือกหนึ่งในการรับใช้สังคม โดยกำหนดเป็นวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่สำคัญของสถาบันและจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและแสวงหาคู่ความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนร่วมกันในระยะยาว