การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันเชิงพหุวัฒนธรรมระหว่างนักเรียนไทยและนักเรียนข้ามชาติระดับปฐมวัย ในสถานศึกษาระดับปฐมวัย ในจังหวัดพังงา

Authors

  • จิตรลดา รัตนพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

Keywords:

รูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนไทยและนักเรียนปฐมวัย นักเรียนไทยและนักเรียนข้ามชาติ การจัดการศึกษาเชิงพหุวัฒนธรรม การศึกษาสำหรับนักเรียนข้ามชาติ

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสถานการณ์และรูปแบบการจัดการศึกษาระหว่างนักเรียนไทยและนักเรียนข้ามชาติในสถานศึกษาระดับปฐมวัยที่ดำรงอยู่ ในจังหวัดพังงา 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันเชิงพหุวัฒนธรรมระหว่างนักเรียนไทยและนักเรียนข้ามชาติในสถานศึกษา ในจังหวัดพังงา  การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม (Mixed method) ประกอบด้วยการวิจัย 2 ขั้นตอน คือ 1) ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพในขั้นตอนการศึกษาสถานการณ์และรูปแบบการจัดการศึกษาระหว่างนักเรียนไทยและนักเรียนข้ามชาติที่ดำรงอยู่ในสถานศึกษาระดับปฐมวัย ในจังหวัดพังงา มีพื้นที่ที่ศึกษา 4 โรงเรียน และการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันเชิงพหุวัฒนธรรมในสถานศึกษาระดับปฐมวัย และ 2) ใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณในขั้นตอนการพัฒนาและการทดลองใช้รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันเชิงพหุวัฒนธรรม มีพื้นที่ที่ศึกษา 1 โรงเรียนคือ โรงเรียนกะปง

  ผลการวิจัยในขั้นตอนศึกษาสถานการณ์และรูปแบบการจัดศึกษาสำหรับนักเรียนไทยและนักเรียนข้ามชาติที่ดำรงอยู่ในพื้นที่พบว่า โรงเรียนทั้ง 4 แห่งมีนโยบายรับนักเรียนข้ามชาติเข้าเรียนในโรงเรียน สำหรับการจัดชั้นเรียนนั้น 3 ใน 4 โรงเรียนจัดให้นักเรียนไทยเรียนร่วมชั้นกับนักเรียนข้ามชาติ โดยมีครูปฐมวัยคนไทยเป็นผู้จัดการเรียนการสอน ส่วนอีก 1 โรงเรียน จัดชั้นเรียนแยกเป็นชั้นเรียนนักเรียนไทยโดยมีครูปฐมวัยเป็นผู้จัดการเรียนการสอน และชั้นเรียนนักเรียนข้ามชาติโดยมีผู้สอนชาวพม่าเป็นผู้จัดการเรียนการสอน ทุกโรงเรียนใช้หลักสูตรปฐมวัย พ.ศ. 2546 เป็นแนวทางในการจัดการศึกษา รูปแบบการศึกษาที่พบ เน้นให้นักเรียนข้ามชาติปรับตัวเข้ากับสังคมไทย และไม่ใช่การจัดการศึกษาในเชิงพหุวัฒนธรรม

  ผลการวิจัยในขั้นตอนการพัฒนาและทดลองรูปแบบการจัดการศึกษาเชิงพหุวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันเชิงพหุวัฒนธรรมในสถานศึกษาระดับปฐมวัย  พบว่า รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันเชิงพหุวัฒนธรรมระหว่างนักเรียนไทยและนักเรียนข้ามชาติในระดับปฐมวัย มีองค์ประกอบ 7 ด้าน คือ ด้านนโยบายของสถานศึกษา ด้านหลักสูตร ด้านบุคลากร ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านบรรยากาศและสภาพแวดล้อม ด้านผู้ปกครองและด้านชุมชน เมื่อนำรูปแบบดังกล่าวไปทดลองใช้กับนักเรียนปฐมวัย ระดับอนุบาล 1 และ 2 ที่เข้าร่วมการทดลองจำนวน 10 คน ประกอบด้วยนักเรียนไทย 3 คน พม่า 1 คนและมอญ 6 คน ผลการวิจัย พบว่า ความรู้ของนักเรียนหลังการจัดการเรียนรู้มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และพบว่าค่าเฉลี่ยของพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันเชิงพหุวัฒนธรรมของนักเรียนไทยและนักเรียนข้ามชาติ ภายหลังการทดลอง มีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นอกจากนี้ผลการศึกษาในเชิงคุณภาพยังแสดงให้เห็นว่านักเรียนไทยและนักเรียนข้ามชาติมีพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันเชิงพหุวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้นทั้งระหว่างและภายหลังการทดลอง พฤติกรรมดังกล่าวมีจำนวน 7 พฤติกรรม ได้แก่ การทักทายผู้อื่นนอกเหนือจากภาษาแม่ของตนเอง การนับเลขเป็นภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาแม่ การแนะนำผู้อื่นเกี่ยวกับวัฒนธรรมของตนเอง การสนใจเรียนวัฒนธรรมผู้อื่น การช่วยเหลือเพื่อนต่างวัฒนธรรม การเล่นกับเพื่อนต่างวัฒนธรรม และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ปกครองของเพื่อนต่างวัฒนธรรม

  สำหรับ ปัจจัยที่ทำให้นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงความรู้และพฤติกรรมนั้น มาจาก องค์ประกอบของรูปแบบการจัดการศึกษาแต่ละด้านที่มีส่วนสนับสนุนซึ่งกันและกัน เช่น ผู้บริหารมีนโยบายสนับสนุนการจัดการศึกษาเชิงพหุวัฒนธรรม มีหลักสูตรที่คำนึงถึงความแตกต่างและหลากหลายของผู้เรียน ครูปฐมวัยได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเชิงพหุวัฒนธรรมจนสามารถนำไปปฏิบัติได้ มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่คำนึงถึงความหลากหลายของผู้เรียน มีการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมในห้องเรียนปฐมวัยและโรงเรียนเพื่อให้เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันเชิงพหุวัฒนธรรม มีการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมของผู้ปกครองและชุมชน ส่วนปัจจัยที่ทำให้องค์ประกอบในแต่ละด้านดังกล่าวข้างต้นสามารถเกิดผลได้ เกิดจากการที่ผู้วิจัยดำเนินการในฐานะผู้กระตุ้นในบางองค์ประกอบ เช่น ด้านนโยบายสถานศึกษาและหลักสูตรเชิงพหุวัฒนธรรม ส่วนองค์ประกอบด้านอื่นๆ นั้นเป็นผลโดยตรงจากการที่ผู้บริหารสถานศึกษาและครูปฐมวัย มีการปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมตามรูปแบบการจัดการศึกษา ส่วนผู้วิจัยนั้นมีบทบาทเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น

Downloads

Published

2017-01-16