ระบบนิเวศบัณฑิตศึกษากับการพัฒนาท้องถิ่น

Authors

  • ชวิศ จิตรวิจารณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

Abstract

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่ออธิบายพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษาในการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษากับการรับใช้สังคม และระบบนิเวศบัณฑิตศึกษากับการพัฒนาท้องถิ่นในมิติของโครงสร้างและหน้าที่ที่เป็นองค์ประกอบและความสัมพันธ์ของระบบ การจัดการศึกษาตามพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษา เป็นการจัดการเรียนการสอนเพื่อการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ โดยสร้างและใช้ความรู้จากงานวิจัย การให้บริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมตามคุณลักษณะและจุดเน้นของแต่ละกลุ่มสถาบันเพื่อสนองความต้องการของสังคมและความต้องการกำลังคนของประเทศ โดยมีเกณฑ์มาตรฐานบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2558 เป็นกรอบในการดำเนินงานและมีการประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับหลักสูตร คณะ และสถาบัน เป็นเครื่องมือในการกำกับควบคุมการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา มีระบบและกลไกที่ขับเคลื่อนงานวิจัยและการบริการวิชาการในรูปแบบของ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ซึ่งเป็นการวิจัยเพื่อการสร้างความเข้มแข็งของกลไกพัฒนาพื้นที่ และการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ช่วยหาคำตอบให้กับปัญหาของคนในพื้นที่ และพัฒนาบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในการสร้างความรู้จากการวิจัย การเรียนการสอน และผสมผสานความรู้ทางวิชาการเข้ากับเงื่อนไขการใช้ประโยชน์และผู้ใช้ประโยชน์ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบสองทาง เป็น “วิชาการรับใช้สังคม”

ระบบนิเวศบัณฑิตศึกษากับการพัฒนาท้องถิ่น มีโครงสร้างของระบบคือ นโยบายและพันธกิจของสถาบัน มาตรฐานคุณภาพการศึกษา การสร้างผู้ประกอบการ/การเสริมพลัง พันธกิจสังคม โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน มีลักษณะเป็นบูรณาการศาสตร์หรือวิทยาการตามโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น เป็นการบูรณาการการสร้างและใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ให้สังคมและชุมชนเป็นหุ้นส่วนในการเรียนการสอน การทำวิจัยของคณาจารย์ การทำวิทยานิพนธ์และการค้นคว้าอิสระของนักศึกษา สร้างวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกันอย่างมืออาชีพ สร้างค่านิยมในการมีความสำนึกและปฏิบัติที่ดีงามร่วมกัน มีความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส และมีการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของชุมชนท้องถิ่นและสถาบันอุดมศึกษาเพื่อส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

Downloads

Published

2017-01-16