ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างบูรณาการ โดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคประชาชน จังหวัดสุราษฏร์ธานี

Authors

  • วิศาล ศรีมหาวโร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Keywords:

ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเตรียมความพร้อมยุทธศาสตร์ การมีส่วนร่วม

Abstract

            การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ปัญหา การป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติทางธรรมชาติ การกำหนดยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อม ประเมินยุทธศาสตร์ ปรับและพัฒนายุทธศาสตร์ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียจากผลกระทบภัยพิบัติ ทางธรรมชาติและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาภัยพิบัติ ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรสาธารณะประโยชน์ องค์กรชุมชน แกนนำ หรือตัวแทนชุมชน จำนวน 360 คน ใน 6 พื้นที่ เก็บข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เอกสาร สัมภาษณ์เชิงลึก สนทนากลุ่ม การวิเคราะห์ปัจจัยภายในและภายนอกโดยใช้ SWOT Analysis และการจัดเวทีรับฟังสาธารณะ ผ่านกระบวนการ World Café วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา

            ผลการวิจัยด้านบริบทการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ พบว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน สถานการณ์ทางสังคม ประชากร การปกครอง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลมาจากการพัฒนา ปัญหาการป้องกันและการแก้ไขพบ มีปัญหาเกี่ยวกับข้อระเบียบกฎหมายที่ต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติก่อน ขาดความรู้ความเข้าใจและทักษะการใช้เครื่องมือทันสมัย บุคลากรมีน้อยและทำงานหลายหน้าที่ แกนนำและผู้นำชุมชนให้ความสำคัญน้อย ขาดการเตรียมความพร้อมและระบบการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนช่วยเหลือตัวเองได้ไม่มาก และขาดระบบบริหารจัดการแก้ไขเชิงบูรณาการ ด้านการกำหนดยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมปรับแก้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติพบว่า ประเด็นยุทธศาสตร์เชิงรุก ได้แก่ การปรับแก้กฎระเบียบและสร้างระบบ การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมและบูรณาการ ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาภัยพิบัติ การสร้างชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง พัฒนาระบบการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ จัดตั้งและพัฒนาศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติและเครือข่ายชมรมวิทยุ ประเด็นยุทธศาสตร์เชิงแก้ไข ได้แก่ การผลักดันโครงการและงบประมาณ ปรับแก้และพัฒนาระบบการปฏิบัติงาน พัฒนาระบบข่าวสารสารสนเทศ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจถึงภัยพิบัติรูปแบบใหม่ ประเด็นยุทธศาสตร์เชิงป้องกัน ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพผู้นำ การจัดโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาภัยธรรมชาติ ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจการปฏิบัติงานของการไฟฟ้าในพื้นที่และการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง ประเด็นยุทธศาสตร์เชิงแก้วิกฤติ ได้แก่ การปรับแก้ระบบบริหารจัดการ การฝึกอบรมให้ความรู้แก้ปัญหาภัยพิบัติ ระบบการสื่อสารให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และการเตรียมความพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจการท่องเที่ยว

Downloads

Published

2017-07-02