พัฒนาการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ยั่งยืนของประชาชนบ้านยางโพรง ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Keywords:
การมีส่วนร่วม การบริหารจัดการ ป่าชุมชนAbstract
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ยั่งยืน พัฒนาการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ยั่งยืน และประเมินการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ยั่งยืน บ้านยางโพรง ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำการเก็บข้อมูลด้านปัญหาและความต้องการมีส่วนร่วมจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และใช้แบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่างที่เลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ได้แก่ คณะกรรมการบริหารชุมชน 30 คน เจ้าหน้าที่ส่วนราชการ 25 คน และประชาชนจำนวน 89 คน รวม 144 คน พัฒนาการมีส่วนร่วมโดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยเทคนิค AIC ประเมินความรู้ เจตคติ และทักษะในการมีส่วนร่วมของประชาชน
ผลการศึกษาพบว่า ระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ ผู้วิจัยนำผลที่ได้จากการศึกษามาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ยั่งยืน บ้านยางโพรง ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยกระบวนการ AICผลการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ยั่งยืนผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการได้แลกเปลี่ยนความรู้ ร่วมกันเสนอแนะ วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันของชุมชน แสดงความคิดเห็นในการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ยั่งยืน โดยพบว่าคนในชุมชนยังมีการอนุรักษ์ป่าไม้น้อย เนื่องจากสภาพธรรมชาติสามารถจัดการตัวเองได้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน แต่ในปัจจุบันพบว่าต้นไม้ลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว การกำหนดวิสัยทัศน์ชุมชนผู้เข้าร่วมประชุม พบว่าต้องการให้ดำเนินการแก้ไขโดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของป่าชุมชน วางแผนร่วมกันแก้ปัญหาโดยชุมชน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสร้างโครงการเพื่อการพัฒนาประกอบด้วย โครงการที่ดำเนินการโดยชุมชน คือ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนบ้านยางโพรง โครงการที่ขอความช่วยเหลือจากกรมป่าไม้ คือ โครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ไม้ขนาดเล็กและของป่า และโครงการที่ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น คือ โครงการครอบครัวสัมพันธ์ร่วมกันปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ
การประเมินเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ยั่งยืน ผู้วิจัยทำการประเมินด้านความรู้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วม และเจตคติที่มีต่อกระบวนการในการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ยั่งยืนก่อน และหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ พบว่า หลังจากการประชุมผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ มีเจตคติที่ดีต่อการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ยั่งยืนมากขึ้น ส่วนการทดสอบทักษะความสามารถในการปฏิบัติการพัฒนาการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ยั่งยืน พบว่า ผู้เข้าร่วมประชุมมีทักษะและความสามารถในการปฏิบัติการพัฒนาการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ยั่งยืนในระดับปานกลางขึ้นไป