ผลของการจัดการขยะมูลฝอยโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเทศบาลตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

Authors

  • รุ้งกานต์ พลายแก้ว
  • ประภัสสร อักษรพันธ์

Keywords:

การจัดการขยะมูลฝอย การมีส่วนร่วมของชุมชน ชุมชนเทศบาลตำบลบ้านนา

Abstract

                การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and development) โดยใช้กระบวนการการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory action research: PAR) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาผลของรูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเทศบาลตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัด         สุราษฎร์ธานี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ตัวแทนครัวเรือน ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่สำนักงานเทศบาลในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 53 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบบันทึกการประชุมเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และแบบสอบถามผลของรูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

                 ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเทศบาลตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดทำเป็นโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยโดยการมีส่วนร่วมในเขตเทศบาลตำบลบ้านนา เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยด้วยการจัดการที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ มีการดำเนินการ 4 ขั้นตอน คือ 1) การประเมินสถานการณ์การจัดการขยะมูลฝอย 2) การวางแผนการจัดการขยะมูลฝอย 3) การปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอย และ 4) การติดตามผลการจัดการขยะมูลฝอย จัดทำโดยคณะกรรมการการจัดการขยะมูลฝอยซึ่งมาจากเทศบาล ผู้นำชุมชน และตัวแทนครัวเรือน ปริมาณขยะมูลฝอยหลังจากการดำเนินการมีแนวโน้มลดลง กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการขยะมูลฝอยโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 67.93 และมีพฤติกรรมการจัดการขยะมูลฝอยในครัวเรือนโดยรวมอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 75.47 จุดเด่นของรูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชนเทศบาลตำบลบ้านนา คือ สภาพแวดล้อมในเขตพื้นที่นำร่องสะอาดทัศนียภาพสวยงาม ถนนเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ขวางทางจราจร ลดแหล่งนำเชื้อโรคในชุมชน ลดปัญหาขยะตกค้างในตอนกลางคืนทำให้ไม่ส่งกลิ่นเหม็น และสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน จุดที่ต้องพัฒนา คือ การตรงต่อเวลาในการจัดเก็บขยะมูลฝอยของเทศบาล การประชาสัมพันธ์/รณรงค์การจัดการขยะมูลฝอยไม่สม่ำเสมอ และควรจะมีแนวทางในการจัดการขยะอินทรีย์ที่เป็นรูปธรรม

                 ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า การพัฒนารูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน การกระตุ้นให้ชุมชนเกิดความสำนึกในการจัดการขยะมูลฝอยอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรเหมาะสมกับบริบทของชุมชนจะทำให้การจัดการขยะมูลฝอยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

Downloads

Published

2018-11-02