รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะการวิจัยทางการบริหารการศึกษา ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

Authors

  • โสภณ เพ็ชรพวง

Keywords:

สมรรถนะการวิจัย การวิจัยทางการบริหารการศึกษา

Abstract

      การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการพัฒนาสมรรถนะการวิจัย, สร้างรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะการวิจัย ประเมินผลการใช้รูปแบบ และความพึงพอใจต่อรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะการวิจัยทางการบริหารการศึกษา ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี  การวิจัยแบ่งเป็น  3 ขั้นตอน ดังนี้ 1 ศึกษาความต้องการในการพัฒนาสมรรถนะการวิจัยทางการบริหารการศึกษา กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักศึกษา จำนวน  68 คน โดยใช้แบบสอบถาม มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ  0.98 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย 2 สร้างรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะการวิจัยทางการบริหารการศึกษา ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและจากการศึกษาความต้องการในขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบคุณภาพ โดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน  ผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก  3 ทดลองใช้รูปแบบ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่นักศึกษา จำนวน 28 คน ประเมินความรู้ความเข้าใจก่อนและหลังการใช้รูปแบบ โดยใช้แบบทดสอบ มีค่าความยาก ระหว่าง .20-.80  ประเมินสมรรถนะทางการวิจัยทางการบริหารการศึกษา โดยใช้แบบสอบถาม ค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ .96 และประเมินความพึงพอใจ โดยใช้แบบสอบถาม ค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ .94 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐานได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

      ผลการวิจัยพบว่า ความต้องการในการพัฒนาสมรรถนะการวิจัยทางการบริหารการศึกษา ของนักศึกษา โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก  เรียงลำดับดังนี้ คือ ด้านทักษะการดำเนินการวิจัย ด้านความรู้ทางการวิจัย และ ด้านคุณลักษณะของนักวิจัย ผลการสร้างรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะการวิจัยทางการบริหารการศึกษา ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี  ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ คำชี้แจงการใช้รูปแบบ ความเป็นมาและความสำคัญของรูปแบบ  หลักการและวัตถุประสงค์ กระบวนการดำเนินงาน และแนวทางการประเมินผลรูปแบบ  การทดลองใช้รูปแบบ  กำหนดวิธีการวิจัยเป็น 4 ขั้นคือ ทดสอบความรู้พื้นฐานการวิจัยก่อนใช้รูปแบบ  ทดลองใช้รูปแบบตามกระบวนการและขั้นตอนของรูปแบบที่กำหนด   ทดสอบหลังการใช้รูปแบบ  ประเมินผลการใช้และความพึงพอใจของการใช้รูปแบบ   จากการทดลองใช้ พบว่า ผลการประเมินความรู้ความเข้าใจก่อนและหลังแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ผลการประเมินสมรรถนะการวิจัยก่อนและหลัง แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และผลการประเมินความพึงพอใจต่อรูปแบบการพัฒนาสมรรถนะการวิจัยทางการบริหารการศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับมาก

Downloads

Published

2018-11-02