อริยสัจแห่งวัฒนธรรม

Authors

  • สายันต์ ไพชาญจิตร์ Suratthani Rajabhat University

Abstract

เวลาที่อยู่นิ่งๆเพราะปัญหาต่างๆรุมเร้าจนหาทางออกไม่เจอ หรืออยู่นิ่งๆเพราะไม่มีปัญหาอะไรมารบกวน เชื่อว่าหลายฅนคงเคยตั้งคำถามแปลกๆกับตัวเองว่า ฅนเราเกิดมาทำไม? ตัวเราเกิดมาทำไม?

เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนช่วงที่ยังรับราชการเป็นนักโบราณคดีอยู่ในกรมศิลปากรข้าพเจ้าก็เฝ้าถามตัวเองด้วยคำถามนี้อยู่บ่อยๆ ถามทุกครั้งก็ตอบตัวเองไม่ได้สักครั้งเดียว ตอบไม่ได้แล้วก็ผ่านเลยไป ไม่ได้พยายามหาคำตอบ เพราะคิดว่าไม่สำคัญ พอผ่านวิกฤตไปได้แต่ละครั้งก็ลืมที่จะหาคำตอบ ชีวิตก็วนเวียนอยู่กับความวุ่นวาย แก้เรื่องนี้ได้เดี๋ยวเรื่องใหม่ก็ถาโถมเข้ามาให้ต้องแก้อีก ไม่มีเรื่องก็เที่ยวได้หาเรื่อง(ที่คิดเอาว่าดี)มาใส่ตัวไม่ได้หยุดได้หย่อน และส่วนมากเรื่องที่คิดว่าดีว่าถูกต้องกลับกลายเป็นประเด็นที่กลับมาทำร้ายตัวเองอยู่บ่อยๆ กระนั้นก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า เราเกิดมาทำไม? อยู่ไปแล้วจะได้อะไร? เรียนแล้วจะรู้อะไร? รู้แล้วจะเอาไปทำอะไร? ทำอย่างนี้อย่างนั้นแล้วจะได้อะไรบ้าง?  ได้มาแล้วนั้นดีจริงหรือเปล่า? จากนี้จะไปไหน?  ฯลฯ

การได้ตั้งใจฟังแถบบันทึกเสียงการบรรยายธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ : ๒๔๔๙-๒๕๓๖)  และติดตามอ่านหนังสือถอดเสียงธรรมบรรยายในวาระและโอกาสต่างๆของท่านหลายครั้ง และอีกหลายสิบครั้งจึงได้พบคำตอบเบื้องต้นว่า

มนุษย์เกิดมาเพื่อที่จะได้พบความจริงอันประเสริฐที่ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า กฎแห่งอิทัปปัจยตาหรือกฎของความเป็นเช่นนั้นเอง ผ่านการศึกษาด้วยกระบวนการไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา และการปฏิบัติตามอริยมรรคแปดประการ เกิดความสงบเย็นเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ซึ่งสัตว์อื่นที่มีอยู่ในโลกนี้ไม่มีศักยภาพที่จะทำให้สำเร็จอย่างมนุษย์ได้  

นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังเข้าใจอีกว่า 

มนุษย์เกิดมาเพื่อเป็นผู้นำในการทำสิ่งที่ดีที่สุดตามที่มนุษย์ สัตว์ พืช สรรพสิ่งและสรรพสารปรารถนาร่วมกัน คือเป็นผู้นำในการสร้าง “ประโยชน์สุข” ที่หมายถึง การอยู่รอดอย่างสันติสุขด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภาพของปัจเจกทั้งหมดทั้งมวล  และ กระบวนการที่มนุษย์กระทำเพื่อให้เกิดซึ่งประโยชน์สุขนั้น เรียกว่า การศึกษาเรียนรู้ การฝึก การหัด และการพัฒนา ที่ดำเนินไปอย่างบูรณาการและพึ่งพิงสัมพันธ์จนเกิดองค์รวมของความสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูล มีเมตตาไมตรี ทำนุบำรุงกันและกันให้เจริญ ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ พืช สรรพสิ่ง สรรพสารที่เป็นธรรมชาติกายภาพ และระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติหรือธรรมชาติส่วนที่มีอำนาจเหนือมนุษย์

Downloads

Additional Files

Published

2018-10-09

How to Cite

ไพชาญจิตร์ ส. (2018). อริยสัจแห่งวัฒนธรรม. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (Journal of Humanities and Social Sciences, SRU), 10(3), 1–28. Retrieved from https://e-journal.sru.ac.th/index.php/jhsc/article/view/951