ความเป็นมาของการเมืองการปกครองไทย
Abstract
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาของการเมืองการปกครองไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน และผลกระทบจากการเมืองการปกครองไทยร่วมสมัย แนวคิดทางศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู พระพุทธศาสนา ความเชื่อพื้นเมืองดั้งเดิมและวิธีการทางประวัติศาสตร์เป็นแนวทางในการศึกษา โดยอาศัยหลักฐานปฐมภูมิและทุติยภูมิจากงานของนักประวัติศาสตร์และนักปรัชญาประวัติศาสตร์ แล้วนำเสนอผลการศึกษาเชิงพรรณนาวิเคราะห์
ผลการศึกษาพบว่า ความเป็นมาของการเมืองการปกครองไทยในอดีต ในทางทฤษฎีนั้น พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจสูงสุดทางเมืองการปกครอง เริ่มจากการปกครองแบบพ่อปกครองลูกตามคติความเชื่อพื้นเมืองไทยดั้งเดิม และแบบธรรมราชาทรงยึดคติทางพระพุทธศาสนาในเรื่องมหาสมมติราชหรือ ธรรมราชาตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาและคติเทวราชาในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูในลักษณะผสมผสาน พระมหากษัตริย์ทรงตั้งตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีฝ่ายสมุหนายกบังคับบัญชาฝ่ายพลเรือนทั่วไป อัครมหาเสนาบดีฝ่ายสมุหพระกลาโหมบังคับบัญชาฝ่ายทหารทั่วไป และมีกรมจตุสดมภ์ คือ นครบาล (เวียง) ธรรมาธิกรณ์ (วัง) โกษาธิบดี ( คลัง) เกษตราธิการ ( นา) บังคับบัญชาในราชธานี ส่วนการปกครองหัวเมืองนั้นได้แบ่งเป็นหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก และหัวเมืองประเทศราช ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1-3) บทบาทของกรมท่ามีความสำคัญในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น จึงมีความสำคัญเท่ากับฝ่ายพลเรือนซึ่งบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและสมุหกลาโหมบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ. 2435 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งราชการส่วนกลางออกเป็น 12 กระทรวง การปกครองส่วนภูมิภาคเรียกว่าการปกครองแบบเทศาภิบาล และการปกครองส่วนท้องถิ่นเรียกว่าสุขาภิบาล การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเกิดขึ้นในทุก ๆ ด้านตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาส่งผลให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าสู่ความทันสมัยเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยมีคณะราษฎรเข้ายึดอำนาจการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2475
อย่างไรก็ดี การบริหารประเทศของรัฐบาลหลัง พ.ศ. 2475 ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายรัฐบาล จนหัวหน้าฝ่ายทหารเข้ายึดอำนาจใน พ.ศ. 2476 เป็นครั้งแรก ความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดการรัฐประหารถึง 22 ครั้ง และครั้งล่าสุดคือ รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเกิดจากกลุ่มทุนและนักการเมืองที่มีฐานอำนาจและการเงินมหาศาล จนส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตในสังคมไทยในปัจจุบัน