ธรรมาภิบาล (การบริหารจัดการที่ดี) ในรูปแบบประชาธิปไตย (Democratic Governance)
Keywords:
ธรรมาภิบาล, การบริหารจัดการที่ดี, ประชาธิปไตย, Democratic Governance, Bevir, Mark.Abstract
หนังสือเรื่อง “ธรรมาภิบาล (การบริหารจัดการที่ดี) ในรูปแบบประชาธิปไตย” (Democratic Governance) สะท้อนความเชื่อมโยงของการบริหารจัดการที่ดีหรือธรรมาภิบาล เข้ากับแนวคิดความเป็นประชาธิปไตยอันมีทิศทางความสัมพันธ์ไปด้วยกัน เนื้อหาภายในเล่มจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยการนำเสนอหลักการต่างๆ ของการบริหารจัดการที่ดีที่สัมพันธ์กับประชาธิปไตย ด้วยข้อเสนอรูปแบบการบริหารจัดการที่ให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและการปกครองมากขึ้น
การนำเสนอหลักการธรรมาภิบาลหรือการบริหารจัดการที่ดี มีความหลากหลายในเชิงความหมายและรูปแบบ โดยแต่ละสำนักคิดหรือนักคิดต่างๆ แต่มีการนำไปตีความและนำไปปรับใช้อย่างแตกต่างวิธีการและวัตถุประสงค์ (รายละเอียดเพิ่มเติมดูใน (Bevir, 2009), (Bevir and Rhodes, 2006), (Chhotray and Stoker, 2009), (Stephen P. Osborne, 2010), (Pierre and Peters, 2000) และอื่นๆ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับธรรมาภิบาลจึงยังคงปรากฏอยู่เสมอมา รวมทั้งสิ่งที่ Bevir นำเสนอซึ่งตั้งประเด็นอยู่ที่การให้ความสำคัญของธรรมาภิบาลในรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตย แต่ใช่ว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) จะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่ Bevir ได้ตั้งข้อสังเกตนั่นคือการมองเห็นจุดอ่อนของประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ทำให้รัฐต้องหันมาทบทวนว่าคุณลักษณะความเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนยังมีความเหมาะสมกับสังคมสมัยใหม่หรือไม่ โดยสิ่งที่เขาเห็นว่าเหมาะสมในการนำธรรมาภิบาลไปใช้ในสังคมสมัยใหม่ คือการนำเสนอให้มีการบริหารจัดการแบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) ที่เน้นการมีส่วนร่วมของตัวกระทำทางการเมือง (Political Actors) ในหลายส่วนเพื่อการบริหารจัดการร่วมกันทั้งส่วนที่เป็นรัฐ (Public Sector) เอกชน (Private Sector) และ ประชาสังคม (Civil Society) ด้วยการนำเสนอทฤษฎีใหม่ของธรรมาภิบาลที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับประชาธิปไตย