ความเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็น “เมือง” ของสังคมชนบท : กระบวนการเคลื่อนไปสู่ “ประชาธิปไตย” (The transformation From Rural Areas to urban Areas The Movement towards democracy)
Abstract
บทความสังเคราะห์เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็น “เมือง” ของสังคมชนบท : กระบวนการเคลื่อนไปสู่ประชาธิปไตย” (Democratization) มีจุดประสงค์ก็เพื่อที่จะทำให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็น “เมือง” ชัดเจนขึ้น เพราะความเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็น “เมือง” นั้น ได้มีความหมายสัมพันธ์กว้างขวางมากกว่าการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนให้บริโภคเหมือนคนเมือง หรือมิติทางวัฒนธรรมทั่วไป แต่หากมีความหมายลึกลงไปสู่การปรับเปลี่ยนจินตนาการของผู้คนในมิติความสัมพันธ์กับรัฐในฐานะพลเมืองรวมถึงการจัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจลักษณะใหม่กับระบบเศรษฐกิจของสังคม การกล่าวถึงเพียงแค่ความเป็น “เมือง” โดยไม่มีส่วนขยายเชื่อมต่อกับมิติอื่น ๆ ในสังคมจึงอาจจะไม่สื่อสารได้อย่างชัดเจนนัก
บทสังเคราะห์นี้เขียนขึ้นจากวิทยานิพนธ์ 2 เรื่อง ได้แก่ “การเมืองเรื่องการเลือกตั้งบนวิถีความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบท (ปีพ.ศ. 2520 - 2554) : กรณีศึกษา ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย” ของนายปฐมพงศ์ มโนหาญ[1] และ “ความเปลี่ยนแปลงในชนบทภาคเหนือ : ศึกษาการจัดการสมบัติชุมชนของ “ชุมชน” และ “หย่อมบ้าน” อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2500 – 2550” ของนายอานุภาพ นุ่นสง[2] ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทสังเคราะห์นี้แบ่งออกเป็นสามประเด็น ได้แก่ การทบทวนความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงใน “ชนบท” การศึกษาประวัติศาสตร์ของสังคม “ท้องถิ่น” และบทสังเคราะห์ความหมายของวิทยานิพนธ์ทั้งสองเล่ม
[1] วิทยานิพนธ์เล่มนี้ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดวิทยานิพนธ์ที่สร้างความรู้ใหม่เกี่ยวกับคนจนของมูลนิธิวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ปี พ.ศ. 2556
[2] วิทยานิพนธ์เล่มนี้ได้รับการพิจารณาพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม สนับสนุนการพิมพ์โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) พ.ศ. 2556