บทบรรณาธิการ
Abstract
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ซึ่งเกิดเป็นกระแสในคลื่นลูกที่สาม และกำลังพัฒนาเป็นคลื่นลูกที่สี่ และที่ห้าตามลำดับ จนกลายเป็นยุคดิจิตอลที่สมบูรณ์แล้วในปัจจุบัน เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในโลกมากมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ที่เร็วสุดน่าจะเป็นเรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ทำให้มนุษย์ได้รับรู้ข่าวสารที่ทันสมัยหลากหลายรอบด้าน ด้วยความรวดเร็วเท่าทันกับนานาอารยะประเทศ ทำให้มนุษย์พัฒนาการไปตามกระแส ตามที่ตนเองสนใจ เกิดความคิดที่เป็นอิสระหรือเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ได้รับรู้ อย่างไรก็ตามข้อมูลที่เราได้รับในเบื้องต้นอาจต้องได้รับการวิเคราะห์ และสังเคราะห์อย่างดีจึงจะเกิดเป็นความรู้ที่แท้จริง งานวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่สมบูรณ์ เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง โดยเฉพาะงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ย่อมได้สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่เป็นรูปธรรมให้เห็นอยู่เสมอ ส่วนการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์อาจจะเป็นไปในรูปนามธรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังแฝงอยู่ด้วยองค์ความรู้ทางวิชาการ อันประกอบด้วยแนวคิดทฤษฎี ที่จะนำมาพัฒนาแนวความคิด และการพัฒนาการในการบริหารจัดการในโลกแห่งความเป็นจริง