บทบรรณาธิการ
Abstract
กระบวนการจัดทำวารสารได้สำเร็จลง ร่วมส่งท้ายปีเก่าไปพร้อม ๆ กันกับประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศ และเริ่มนับศักราชใหม่อย่างมีความหวัง รอวันเลือกตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งด้วยการออกเสียงลงคะแนน ตามครรลองระบอบประชาธิปไตย โดยอาศัยรูปแบบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นแม่บทในการกำหนดทิศทางด้วยตั้งใจว่าจะได้รัฐบาลที่สามารถปฏิรูปบ้านเมืองเพื่อก้าวสู่ความวัฒนาถาวร และนำความผาสุกให้บังเกิดกับประชาชนในชาติได้อย่างแท้จริง ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้าในภาครัฐ ทั้งด้านเศรษฐกิจที่พืชผลทางเกษตรตกต่ำ ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในโครงการต่าง ๆ ของรัฐ ปัญหาความขัดแย้งขาดความสามัคคีของคนในองค์กร ตลอดถึงปัญหาภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการก่อเหตุ ลัก วิ่ง ชิง ปล้นที่นำมาสู่การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาการค้าและเสพยาเสพติด ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็กจากคนใกล้ตัว ปัญหาการทำร้ายร่างกาย และอีกสารพันปัญหา ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ได้ตกเป็นข่าวรายวันให้สังคมสลดใจเมื่อรับรู้ถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมและรุนแรง ทั้งนี้ปัญหาทั้งปวงล้วนแต่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องแก้ไขเยียวยา แต่ที่ผ่านมาการสะสางปัญหาต่าง ๆ เป็นราวกับว่าพายเรือในอ่าง ยากที่จะคลี่คลายให้สิ้นสุดลงได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมากี่สมัยก็ตาม
หากเปรียบประเทศไทยเสมือนเรือลำใหญ่ที่เดินทางในมหาสมุทรจำต้องเผชิญกับแดดร้อน ลม ฝน ไปพร้อมกับวิกฤติการณ์อีกมากมาย เรือลำนี้คงปรารถนาจะหยุดพักรอซ่อมแซมเสียเต็มประดา เนื่องจากสภาพใต้ท้องเรือล้วนแต่มีรอยรั่ว รอยร้าวทั้งสิ้น ปัจจัยหนึ่งนั้นเกิดจากข้อพิพาทของผู้ที่อาศัยในลำเรือ จึงทำให้เกิดปัญหาล่าช้าในการพัฒนาประเทศในที่สุดก็อาจจะแล่นไปไม่ไกลนัก เมื่อสังคมยังเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เกิดแตกแยกขาดความสามัคคีที่เป็นพาหนะนำสู่การแบ่งพรรคพวกออกเป็นฝักฝ่าย ถึงขนาดไม่อาจจะร่วมงานกันต่อไปได้อีก จนแทบลืมไปว่า ครั้งหนึ่งบ้านเมืองเราเคยล่มสลายมาแล้วในสมัยอโยธยา ด้วยเหตุว่าขาดจิตสำนึกแห่งประชาชาตินิยม การสูญเสียกรุงในครั้งนั้นไม่อาจจะหาสิ่งใดมาทดแทนมรดกอันล้ำค่าที่ควรจะได้รับการสืบทอดถึงลูกหลานไทยต่อไปได้อีก
อนึ่ง ผู้เขียนเคยระลึกถึงตอนเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถม พอจำความได้ว่ามีนิทานเรื่องหนึ่งที่คุณครูให้ความเมตตาอบรมสั่งสอน โดยมีเนื้อความว่าพ่อให้ลูกไปตัดกิ่งไผ่มาคนละท่อนแล้วจึงให้ทุกคนหักกิ่งไผ่ ปรากฏว่าลูกสามารถหักกิ่งไผ่ได้ทุกคน หลังจากนั้นพ่อจึงสั่งให้ลูกไปตัดกิ่งไผ่มาอีกคนละท่อนแล้วให้ทุกคนนำกิ่งไผ่มามัดรวมกัน และบอกให้ลูกทยอยกันหักมัดไผ่ ซึ่งทุกคนไม่สามารถหักมัดไผ่ได้ พ่อเลยสอนลูก ๆ ว่า กิ่งไผ่เล็ก ๆ ถ้ามัดรวมกันมันก็จะแข็งแรง เวลาลูกทะเลาะกัน ลูกแต่ละคนก็เหมือนกิ่งไผ่คนละกิ่ง ต่างคนต่างอยู่ ไม่สามัคคีกัน หากมีใครมาคิดร้าย หมายรังแกก็สามารถกระทำได้โดยง่าย แต่ถ้าทุกคนมีความปรองดองไม่ทะเลาะกันก็จะเหมือนกับกิ่งไผ่ที่มัดรวมกันไว้ใครก็ไม่สามารถทำอะไรพวกเราได้ ต่อไปลูกทุกคนควรรักสามัคคีกัน ดั่งนิทานสอนใจในเรื่องนี้ที่สอดคล้องกับพุทธภาษิตว่า สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ นำมาซึ่งความสุข อันเป็นข้อพิสูจน์ได้ด้วยหลักสัจธรรม
ด้วยเหตุนี้ ความสามัคคี จึงเป็นเครื่องกำหนดให้เกิดความเข้มแข็งต่อการดำรงคงอยู่ของสังคมและประเทศชาติ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวดว่าด้วยหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ตามมาตรา 50 (6) ได้รับรองในเรื่องนี้ว่า “บุคคลมีหน้าที่ไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม” ดังนั้น การตระหนักถึงหน้าที่ของตนเอง ช่วยส่งเสริมกิจการงานในหมู่สมาชิกโดยบริสุทธิ์จริงใจและเห็นความทุกข์ของผู้อื่นเสมอด้วยตนจิตสำนึกเพียงเท่านี้ก็นับได้ว่าเป็นคนดีที่สังคมต้องการ
วารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้พยายามอย่างยิ่งยวดในการปฏิบัติหน้าที่ โดยจัดทำวารสารเป็น 2 รูปแบบ ทั้งรูปแบบตีพิมพ์ (Print)และรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Online)ทั้งนี้เพื่อเป็นสื่อในการเผยแพร่ผลงานวิชาการให้เป็นไปอย่างกว้างขวาง และรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงให้ถูกต้องตามเกณฑ์เชิงปริมาณในการประเมินคุณภาพวารสารวิชาการของฐานข้อมูล TCI อีกด้วย
สำหรับฉบับนี้ มีบทความวิจัยและบทความวิชาการที่เลือกสรรแล้ว จำนวน 8 เรื่อง ได้แก่บทความที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองเรื่อง “การสืบทอดอำนาจทางการเมืองโดยมิชอบ”ซึ่งผู้วิจัยได้กล่าวถึง การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เกิดแย่งชิงอำนาจกันเองเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในแต่ละครั้ง นักการเมืองจะใช้ช่องว่างเพื่อสืบทอดอำนาจอาจนำไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเมืองในอนาคต บทความต่อมา ผู้แต่งได้นำเสนอเรื่อง “ข้อสังเกตบางประการในคดีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2)”กรณีดังกล่าวได้วิเคราะห์ปัญหาในคดีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และศึกษาปัญหาเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนีเพื่อเปรียบเทียบกับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยไว้อย่างน่าสนใจ
ส่วนบทความที่เกี่ยวกับสังคม ได้แก่ เรื่อง “ความรับรู้ของเยาวชนในจังหวัดเชียงรายที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ถึงเยาวชนที่อยู่กับผู้ใกล้ชิดที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ใกล้ชิดที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสองประการนี้ส่งผลกระทบต่อเยาวชนอย่างมีนัยสำคัญ อีกเรื่องหนึ่งเป็นการพิจารณาถึงผู้จำต้องชดใช้สินไหมทดแทนจากกรณี “ความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายอันเกิดจากสุนัขชุมชน”นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้ตีแผ่ถึงการดำเนินชีวิตของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่ถูกจำกัดด้วยอำนาจด้านกฎหมายแต่พวกเขาได้ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิในเรื่อง“อำนาจชอบธรรมของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในเมืองสุราษฎร์ธานี”และบทความถัดจากนี้กล่าวถึงแนวคิดว่าด้วยหลักสมานฉันท์ เรื่อง“การไกล่เกลี่ยคดีแพ่งก่อนฟ้องในศาลยุติธรรม” ความดังกล่าวผู้ศึกษาได้เห็นถึงการสมประโยชน์อย่างยิ่งแก่คู่กรณีส่วนบทความเรื่อง“พันธกรณีของประเทศไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD):ศึกษากรณีการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเกลียดชังทางคอมพิวเตอร์ (Online Hate Speech) ในกรอบพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2560”ที่ผู้เขียนได้เสนอให้มีการแก้ไข เพิ่มเติมกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล
ปิดท้ายด้วยบทความที่เกี่ยวกับเนื้อหาในต่างประเทศเรื่อง“ความชอบธรรมตามกฎหมายว่าด้วยการสืบราชสมบัติของกษัตริย์เดนมาร์ก: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์”
กองบรรณาธิการและสำนักงานกองบรรณาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเผยแพร่ผลงานวิชาการในครั้งนี้จะเกิดคุณประโยชน์กับวงการศึกษาตามสมควรจากประเด็นที่ได้นำเสนอไปแล้วจึงใคร่ขอขอบพระคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้ความเมตตาและเจ้าของผลงานทุกท่านที่กรุณาส่งบทความให้อย่างมิตรที่หวังดีต่อกันด้วยความจริงใจ ซึ่งทำให้วารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้มีโอกาสรับใช้สังคมอย่างสมภาคภูมิ
ภูภณัช รัตนชัย